Ciprofloxacin (ไซโปรฟลอกซาซิน) ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ที่ช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากติดเชื้อ โรคหนองใน ปอมบวม โรคแอนแทรกซ์ รวมไปถึงการติดเชื้อที่ผิวหนัง กระดูก ข้อต่อ และช่องท้อง โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อการรักษาเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม การใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในเด็ก เพราะมีความเสี่ยงจากอันตรายของการใช้ยาได้สูง
เกี่ยวกับยา Ciprofloxacin
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolone Antibiotic) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาหยอด ยาฉีด |
คำเตือนของการใช้ยา Ciprofloxacin
- ควรแจ้งประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะในกลุ่มควิโนโลนตัวอื่น เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) และประวัติอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะโรคทางด้านหัวใจ มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Prolong QT Interval) มีปัญหาของข้อต่อและเส้นเอ็น โรคไต โรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคชักหรือสภาวะที่อาจนำไปสู่อาการชัก เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้โรคประจำตัวเดิมกำเริบมากขึ้นหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
- หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานยา เพราะอาจส่งผ่านตัวยาไปสู่ทารกได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรรับประทานยา ยกเว้นหากมีข้อบ่งชี้การใช้ยาที่จำเป็น เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้สูง
- ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด และการตรวจเลือดดูค่าโปรทรอมบิน ไทม์ (Prothrombin Time: PT) หรือค่า INR (International Narmalized Ratio) รวมไปถึงมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ควรปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้นก่อนการรับประทานยา
- หลีกเลี่ยงการขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้วิงเวียน ง่วงนอน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้ในช่วงที่มีการรับประทานยาทิซานิดีน (Tizanidine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- การใช้ยาควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายและแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดื้อยา และการใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือใช้ยาเกินขนาดอาจไปลดประสิทธิภาพของฤทธิ์ยาได้
ปริมาณการใช้ยา Ciprofloxacin
ยาฉีด
การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ผิวหนัง และเนื้อเยื่อ
- ผู้ใหญ่: 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือวันละ 3 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 7-14 วัน
ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)
- ผู้ใหญ่: 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 28 วัน
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน
- ผู้ใหญ่: 200-400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 7-14 วัน
การรักษาและป้องกันโรคแอนแทรกซ์หลังจากการสูดดม
- ผู้ใหญ่: 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 60 วัน
- เด็ก: 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ปริมาณรวมไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 60 วัน
การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ
- ผู้ใหญ่: 400 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง โดยฉีดเข้าเส้นอย่างช้า ๆ ภายใน 60 นาที เป็นระยะเวลา 4-12 วัน
ยาหยอด
กระจกตาเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่: ใช้ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.3% หยอดตาข้างที่เป็น ครั้งละ 2 หยด โดยวันแรกหยอดทุก ๆ 15 นาที ภายใน 1-6 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นหยอดทุก ๆ 30 นาที วันที่ 2 หยอดครั้งละ 2 หยดทุกชั่วโมง วันที่ 3-14 หยอดครั้งละ 2 หยดทุก 4 ชั่วโมง (ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 21 วัน)
อาการตาติดเชื้อแบบไม่ลึก
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ : ใช้ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.3% หยอดตาข้างที่เป็น ครั้งละ 1-2 หยด วันละ 4 ครั้ง ในรายที่มีอาการรุนแรง ควรหยอดปริมาณทุก ๆ 2 ชั่วโมง (เฉพาะเวลาตื่น) ในช่วง 1-2 วันแรก (ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 21 วัน) หากเป็นยาขี้ผึ้งป้ายตาใช้ป้ายตาวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน จากนั้นใช้ป้ายตาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

ยารับประทาน
การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ผิวหนัง และเนื้อเยื่อ
ผู้ใหญ่: รับประทานยา ขนาด 500-750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7-14 วัน ในรายที่มีอาการหูชั้นนอกอักเสบชนิดรุนแรง ให้เพิ่มปริมาณยาเป็น 750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 28 วัน-3 เดือน
กรวยไตอักเสบ
ผู้ใหญ่: กรวยไตอักเสบแบบไม่ซับซ้อน รับประทานยา ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7 วัน หรือกรวยไตอักเสบแบบซับซ้อนเพิ่มปริมาณยาเป็น 500-750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10-21 วัน
เด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป: รับประทานยา ขนาด 10-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 10-21 วัน (สูงสุด 750 มิลลิกรัม)
ต่อมลูกหมากอักเสบ
ผู้ใหญ่: 500-750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ (ชนิดเฉียบพลัน) หรือ 4-6 สัปดาห์ (ชนิดเรื้อรัง)
ไข้ไทฟอยด์
ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7 วัน
ปากมดลูกอักเสบ หรือท่อปัสสาวะอักเสบจากเชื้อหนองใน
ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
การติดเชื้อที่กระดูกกับข้อต่อ
ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 500-750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนานไม่เกิน 3 เดือน
การติดเชื้อในช่องท้อง
ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 500-750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 5-14 วัน
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผู้ใหญ่: กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซับซ้อน รับประทานยาขนาด 250-500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 3 วัน ในรายที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบซับซ้อน รับประทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 7 วัน
การใช้ยา Ciprofloxacin
ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบหากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการทำปฏิกิริยาของยาขึ้น
ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนการใช้ หากเป็นยาชนิดเม็ดไม่ควรเคี้ยว หัก หรือแบ่งยาเป็นส่วน ๆ ควรกลืนยาไปทีเดียว แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ส่วนยาน้ำควรเขย่าขวดให้ตัวยาผสมเข้ากันดี และตวงยาด้วยช้อนมาตรฐาน ยาชนิดนี้สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหารทุก ๆ 12 ชั่วโมง และดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างวัน เพื่อช่วยให้ตัวยากระจายได้ทั่วร่างกาย รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการดื่มนม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่มีคาเเฟอีน ยาลดกรด ยาที่มีส่วนผสมของเหล็กและซิงค์ในช่วงที่มีการใช้ยาชนิดนี้ เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ยาและระยะเวลาใช้ยาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการใช้ยาของผู้ป่วยเป็นหลัก การใช้ยาในเด็กควรต้องปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้สูง โดยเฉพาะปัญหาความผิดปกติของกระดูกและเส้นเอ็น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบปริมาณที่กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรหยุดยาเองยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งระงับการใช้ยา เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และหากใช้ยาครบตามปริมาณที่กำหนดแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที สล็อตเว็บตรง แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบต่อไป ให้ข้ามไปรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 เท่า หากมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ciprofloxacin
หลังการรับประทานยา Ciprofloxacin อาจทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติขึ้นได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น
- ท้องเสีย
- เวียนหัว คลื่นไส้
- แสบร้อนทรวงอก
- นอนไม่หลับ
ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้น้อย แต่ควรหยุดใช้ยาแล้วรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น
- ปากและใบหน้าบวม
- ผิวหนังมีผื่นขึ้น
- หายใจลำบาก
- วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
- หัวใจเต้นแรง
- ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น
- มีรอยฟกช้ำ หรือ เลือดออกผิดปกติ
- ไตเกิดความผิดปกติ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีปัสสาวะเป็นสีแดงหรือชมพู ปริมาณน้ำปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไป
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง เหนื่อยง่ายผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียนเป็นประจำ ดวงตาและผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือปัสสาวะเป็นสีดำ