ปริมาณน้ำตาล กว่าครึ่งหนึ่งที่เด็กได้รับในแต่ละวันมาจาก การรับประทานขนม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับมากเกินความต้องการไปเป็นไขมันสะสม และนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ นอกจากนี้ขนมขบเคี้ยวยังประกอบด้วยโซเดียมในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้เด็กมีภาวะความดันโลหิตสูง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
การเลือกขนมสำหรับเด็กควรคำนึงถึงประเภทของขนม ปริมาณที่รับประทาน และช่วงอายุ ซึ่งมีข้อควรระวังในการเลือกขนมให้เด็กรับประทาน ดังต่อไปนี้
- ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมแทนอาหารมื้อหลัก และควรให้เด็กรับประทานขนมก่อนถึงเวลารับประทานอาหารมื้อหลักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกอิ่มเกินไป
- หลีกเลี่ยงการให้ขนมเป็นรางวัลแก่เด็ก และควรกำหนดพื้นที่ในการรับประทานขนม เช่น ที่โต๊ะกินข้าวหรือในห้องครัว หลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานขนมขณะดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจสร้างนิสัยการรับประทานมากเกินไปให้เด็กโดยไม่รู้ตัว
- พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมขบเคี้ยวหรือน้ำหวานให้ลูกเห็นจนเคยชิน เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ช่างสังเกต การเป็นแบบอย่างที่ดีจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่เห็นและปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานขนมที่แนะนำต่อวันจะแตกต่างกันตามช่วงวัย โดยเด็กก่อนวัยเรียนควรรับประทานขนมไม่เกินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 100–150 แคลอรี และเด็กวัยเรียนควรรับประทานขนมไม่เกินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 200 แคลอรี