พาหะธาลัสซีเมีย เป็นคำที่คู่รักมักจะได้ยินบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่ม วางแผน แต่งงานหรือ วางแผนมีเจ้าตัวน้อย พาหะธาลัสซีเมีย เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ที่อาจ ส่งผลให้ทารกเกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งได้
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดที่เกิดความปกติในการผลิตฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดฮีโมโกลบินไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์ คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียอาจพบปัญหาสุขภาพมากมายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ คู่รักที่วางแผนจะแต่งงานหรือมีลูกจึงควรเข้ารับการตรวจพาหะธาลัสซีเมีย
พาหะธาลัสซีเมียคืออะไร อันตรายไหม?
พาหะธาลัสซีเมียเป็นภาวะที่บุคคลนั้นได้รับยีนหรือพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียมาจากพ่อ แม่ หรือทั้งพ่อและแม่ โดยผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะไม่ได้เป็นโรคธาลัสซีเมียโดยตรง อาจพบเพียงอาการผิดปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดที่ไม่รุนแรงเท่านั้น แต่คนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสามารถส่งต่อพันธุกรรมของโรคไปยังลูกหลานได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพ่อหรือแม่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ไม่ได้หมายความว่าทารกที่เกิดมาจะต้องเป็นโรคธาลัสซีเมียเสมอไป
ยีนผิดปกติที่ทำให้เกิดพาหะธาลัสซีเมียหรือโรคธาลัสซีเมียเองสามารถส่งต่อผ่านทางสายเลือดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน พันธุกรรมที่ผิดปกตินี้พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในบางกลุ่มประเทศ หนึ่งในนั้นคือแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หากใครที่มีบรรพบุรุษหรือสืบเชื้อสายจากจีน อินเดีย ปากีสถาน และประเทศแถบตะวันออกกลางก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
คนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียส่วนใหญ่มักไม่พบความผิดปกติร้ายแรงหรืออันตราย สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ และไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่อาจพบอาการเลือดจางชนิดไม่รุนแรงในบางราย โดยอาจทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายและผิวซีดเท่านั้น และอาการเลือดจางของบางคนอาจเบาบางจนอาจไม่ทราบถึงความผิดปกตินี้ได้ แต่หากไปตรวจเลือดก็จะพบว่ามีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติหรือเม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์
พาหะธาลัสซีเมียส่งต่อไปยังทารกได้ไหม เกิดโรคธาลัสซีเมียเลยหรือเปล่า?
คำตอบมีทั้งได้และไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่หลายปัจจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมของพ่อแม่ ในกรณีที่ทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะหรือมีโรคธาลัสซีเมียอาจมีความเป็นไปได้ที่จะส่งต่อพันธุกรรมและโรคให้กับลูกในท้องดังนี้
- โอกาสที่ทารกจะเป็นโรคธาลัสซีเมียอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์
- โอกาสที่ทารกไม่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมพาหะธาลัสซีเมียและไม่เป็นโรคธาลัสซีเมียอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์
- โอกาสที่ทารกจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมพาหะธาลัสซีเมีย แต่ไม่เป็นโรคธาลัสซีเมียอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างนี้เป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ เท่านั้น ในความเป็นจริงอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการถ่ายทอดพันธุกรรมดังกล่าว ส่วนกรณีอื่น ๆ พ่อแม่ควรเข้ารับการตรวจหาพาหะธาลัสซีเมียจากแพทย์ด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อหาความเสี่ยงและวางแผนการแก้ไข