บาดทะยัก (Tetanus) โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียร้ายแรงที่สามารถแพร่ผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกาย เชื้อบาดทะยักนี้จะไปกระทบต่อระบบประสาท จึงมักทำให้มีอาการเจ็บปวดและเกร็งกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกรและกล้ามเนื้อลำคอ และยังอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคบาดทะยัก
หลังจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคบาดทะยักเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยอาจแสดงอาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-21 วันหรืออาจนานกว่านั้น แต่โดยเฉลี่ยมักมีอาการภายใน 10-14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการอย่างรวดเร็วมักจะแสดงถึงการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าและรักษาได้ยากกว่า
โรคบาดทะยักมีอาการบ่งบอก ดังนี้
- อาการชักเกร็งหรือกล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก
- กล้ามเนื้อที่ลำคอหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวด กลืนและหายใจลำบาก
- มีอาการหดเกร็งที่กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ตามมา เช่น ช่องท้อง หลัง และหน้าอก
- ร่างกายกระตุกและเจ็บเป็นเวลานานหลายนาที ซึ่งมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสียงดัง ลมพัด การถูกสัมผัสร่างกาย หรือการเผชิญกับแสง
นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่
- มีไข้สูง
- เหงื่อออก
- ความดันโลหิตสูง
- หัวใจเต้นเร็ว
อาการดังกล่าวเหล่านี้ หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทรุดหนักลงได้ภายในไม่กี่วันหรืออาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และอันตรายถึงขั้นทำให้หายใจไม่ออกหรือหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยักเกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่าคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) แพร่กระจายโดยสปอร์ของแบคทีเรียที่พบได้ตามดิน ฝุ่น สิ่งสกปรก และอุจจาระของสัตว์อย่างม้าหรือวัว โดยเชื้อชนิดนี้มีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลานาน และยังคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แม้แต่ในที่ที่มีความร้อนสูงก็ตาม
การติดเชื้อบาดทะยักเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายบริเวณที่เกิดแผลสัมผัสเข้ากับเชื้อ สปอร์ของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของบาดทะยักสามารถเพิ่มตัวอย่างรวดเร็วและแพร่ผ่านกระแสเลือดไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงผลิตสารพิษที่มีชื่อว่าเตตาโนสปาสมิน (Tetanospasmin) ซึ่งจะส่งผลให้เส้นประสาทต่าง ๆ ที่ควบคุมกล้ามเนื้อเสียหาย จนเกิดเป็นอาการปวดและชักเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นอาการหลักของโรคบาดทะยักนั่นเอง
รอยแผลลึกที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือมีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ในแผลจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก สล็อตเว็บตรง แต่แผลบาดเจ็บเล็กน้อยทั้งหลายก็อาจมีโอกาสทำให้เกิดบาดทะยักได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือในอดีตยังได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนตามกำหนด ผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็วเมื่อเกิดแผล
เชื้อบาดทะยักยังสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายผ่านแผลที่มีลักษณะต่อไปนี้
- แผลถลอก รอยครูด หรือแผลจากการโดนบาด
- แผลจากการถูกสัตว์กัด เช่น สุนัข เป็นต้น
- แผลที่มีการฉีกขาดของผิวหนังเกิดขึ้น
- แผลไฟไหม้
- แผลถูกทิ่มจากตะปูหรือสิ่งของอื่น ๆ
- แผลจากการเจาะร่างกาย การสัก หรือการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก
- แผลจากกระสุนปืน
- กระดูกหักที่ทิ่มแทงผิวหนังออกมาภายนอก
- แผลติดเชื้อที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- แผลบาดเจ็บที่ดวงตา
- แผลจากการผ่าตัดที่ปนเปื้อนเชื้อ
- การติดเชื้อที่ฟัน
- การติดเชื้อทางสายสะดือในทารก เนื่องจากการทำคลอดที่ใช้ของมีคมที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือ และยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อมารดาไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างครบถ้วน
การวินิจฉัยโรคบาดทะยัก
แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อสังเกตดูอาการของโรคบาดทะยัก เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อชักกระตุก รวมทั้งสอบถามถึงประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หากพบว่าผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหรือเคยได้รับแต่ไม่ครบถ้วน ก็นับว่าเสี่ยงที่จะเป็นอาการจากโรคบาดทะยักได้สูง
การวินิจฉัยโรคบาดทะยักโดยทั่วไปมักไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่บางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากโรคชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายกัน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สมองและไขสันหลัง หรือโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและส่งผลให้สมองบวม
การรักษาโรคบาดทะยัก
หลังการตรวจวินิจฉัย หากแพทย์พิจารณาว่ามีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะติดเชื้อบาดทะยักแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น กรณีนี้จะรักษาโดยทำความสะอาดแผลและฉีด Tetanus Immunoglobulin ซึ่งเป็นยาที่ประกอบด้วยแอนติบอดี้ ช่วยฆ่าแบคทีเรียจากโรคบาดทะยักและสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ในช่วงระยะสั้น ๆ ถึงปานกลาง นอกจากนี้อาจฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วยหากผู้ป่วยยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ครบกำหนด
ผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการของโรคบาดทะยักแล้ว โดยทั่วไปจำเป็นจะต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในห้องไอซียูเพื่อให้แพทย์เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด และอาจได้รับการรักษาต่อไปนี้
- ให้ยา Tetanus Immunoglobulin และยาปฏิชีวนะ
- นำเอาเนื้อเยื่อแผลที่ตายแล้วหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากบาดแผล
- ให้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยและชักกระตุกของกล้ามเนื้อ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อและยาระงับประสาท
- ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหากมีอาการหายใจลำบาก
- ส่วนบางรายที่รับประทานอาหารไม่ได้จะต้องใช้หลอดให้อาหารเชื่อมต่อไปยังท้องหรือการหยดสารอาหารเข้าเส้นเลือด
ส่วนใหญ่อาการของโรคบาดทะยักที่ได้รับการรักษาจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่เสียชีวิตจากโรคบาดทะยักได้เช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคบาดทะยัก
อาการชักกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อไปนี้ตามมา
- จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจน
- กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่น ๆ หักจากกล้ามเนื้อที่เกร็งมากผิดปกติ
- เกิดการติดเชื้อที่ปอดจนเกิดปอดบวม
- ไม่สามารถหายใจได้ เนื่องจากการชักเกร็งของเส้นเสียงและกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
- การติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพักฟื้นหรือรักษาตัวจากโรคบาดทะยักในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน
การติดเชื้อโรคบาดทะยักอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหายใจล้มเหลว ส่วนสาเหตุอื่นที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน ได้แก่ ภาวะปอดบวม การขาดออกซิเจน และภาวะหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น
การป้องกันโรคบาดทะยัก
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่ง่ายและได้ผล โดยควรฉีดกระตุ้นเมื่อเกิดแผลสกปรกหรือแผลเปิดที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าตนฉีดวัคซีนครั้งสุดท้ายเมื่อไร และทางที่ดีควรฉีดป้องกันตั้งแต่ยังเป็นทารกด้วยวัคซีน DTaP สำหรับป้องกันทั้งโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยักในวัคซีนเดียวกัน ซึ่งจะฉีดทั้งหมด 5 ครั้งที่บริเวณแขนหรือต้นแขนเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15-18 เดือน และเมื่ออายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นจึงฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Tdap สำหรับป้องกันโรคบาดทะยักคอตีบไอกรน หรือวัคซีน Td สำหรับป้องกันโรคบาดทะยักคอตีบทุก ๆ 10 ปี
ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในระยะแรก 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าฉีดเมื่ออายุเท่าใดและเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นจึงฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
การป้องกันในทารกแรกเกิด
การใช้เครื่องมือสำหรับทำคลอดและตัดสายสะดือที่สะอาด และหมั่นดูแลและเช็ดทำความสะอาดสะดือ ถือเป็นการป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้แก่สตรีตั้งครรภ์เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งเว้นระยะห่าง 1 เดือน แต่ครั้งสุดท้ายควรต้องฉีดก่อนคลอดอย่างน้อย 1 เดือน
การได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักจำนวน 2 ครั้ง จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันส่งผ่านไปยังทารกแรกเกิด ช่วยป้องกันโรคบาดทะยักได้นาน 3 ปี แต่ในปัจจุบันอาจแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 3 ในช่วงอายุครรภ์ 6-12 เดือน หรือฉีดให้ทารกหลังคลอด เพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงและอยู่ได้ยาวนานถึง 5-10 ปี อย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งและชนิดของการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักสำหรับสตรีตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับประวัติวัคซีนที่เคยได้รับมาก่อนและควรได้รับคำแนะนำจากสูติแพทย์ร่วมด้วย
การป้องกันด้วยตนเองเมื่อเกิดบาดแผล
แผลทุกชนิด ไม่ว่าบาดแผลลึก แผลถูกกัดจากสัตว์ และแผลสกปรกล้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยักได้สูง ยกเว้นแต่แผลเล็กน้อยที่ไม่สกปรกหรือเปรอะเปื้อน การป้องกันเบื้องต้นควรรีบล้างแผล ฟอกสบู่แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นจึงเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงการป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก รวมทั้งตรวจดูว่าวัคซีนที่เคยได้รับยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่หรือไม่
บาดแผลที่เล็กน้อยจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคบาดทะยักด้วยตนเองได้ดังต่อไปนี้
- กดแผลไว้เพื่อหยุดหรือห้ามเลือด
- รักษาความสะอาดของแผล เมื่อเลือดหยุดไหลให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ด้วยสบู่และผ้าเช็ดแผล แต่หากพบว่ามีเศษสิ่งสกปรกใด ๆ ฝังอยู่ในแผลให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยหลังจากทำความสะอาดแผลให้ใช้ครีมหรือขี้ผึ้งปฏิชีวนะทาบริเวณแผล เช่น ยานีโอสปอริน (Neosporin) และโพลีสปอริน (Polysporin) ซึ่งแม้ยาเหล่านี้จะไม่ช่วยให้แผลหายเร็ว แต่ก็สามารถขัดขวางการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและการติดเชื้อบาดทะยัก ทั้งนี้หากใช้ยาทาประเภทขี้ผึ้งแล้วเกิดอาการแพ้จนเกิดผื่น ควรหยุดใช้ยาทันที
- ใช้ผ้าปิดบาดแผลเพื่อให้แผลสะอาดและป้องกันจากการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียของแผล โดยเฉพาะแผลพุพองที่กำลังแห้งจะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงควรปิดแผลไว้จนกว่าแผลเริ่มก่อตัวเป็นสะเก็ด นอกจากนี้ควรเปลี่ยนผ้าทำแผลทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งหรือเมื่อใดก็ตามที่ผ้าปิดแผลเปียกน้ำหรือเริ่มสกปรก เพื่อหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อ